วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

11.สังคมออนไลน์


สังคมออนไลน์  จากเวทีความเห็นสู่ประเด็นการเมือง
เมื่อ พื้นที่อิสระในการสื่อสาร กลายเป็นเวทีวิพากษ์ทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วและล่อแหลม ปราศจากการควบคุม หลายฝ่ายประกาศรวมพลัง เรียกร้องให้ผู้ใช้กลั่นกรองจากจิตสำนึก
 จากพื้นที่ในการพูดคุยหรือติดต่อสื่อสาร วันนี้ โซเชียลเน็ตเวิร์กถูกขยับฐานะจากสังคมออนไลน์สู่เวทีแสดงความเห็นทางการเมือง ส่งผลให้หลากกลุ่มหลายเครือข่ายถือกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ภายใต้อิสระทางการแสดงพลังความคิด จนไม่อาจรู้ได้ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วมีเป้าหมายเพื่อแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ หรือเป็นเพียงการลอกเลียนพฤติกรรมแบบที่เรียกว่า อุปทานหมู่...  พิธีกรชื่อดัง แสดงทัศนคติว่า กระแสทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโซเชียลเน็ตเวิร์กกิ้งในปัจจุบัน คล้ายกับประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูลหรือความบันเทิง โดยถือเป็นเน็ตเวิร์กรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยจุดประสงค์เพื่อการติดต่อสื่อสาร ส่วนสาเหตุที่มีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง อาจมีสาเหตุจากการมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตนเอง รวมถึงการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างมากในสังคม เชื่อว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อหวังผลบางประการ อาจเพื่อปลุกปั่นกระแสสร้างความรุนแรง ผ่านความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้การแสดงความคิดเห็นจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคม แต่การตอบโต้เชิงลบก็ทำให้เกิดปัญหา รวมถึงความอิสระในการแสดงความคิด ก็กลายเป็นสิ่งเร้ากระต้นให้เกิดความรุนแรงพิธีกรชื่อดัง กล่าว  นายวุฒิธร หรือ วู้ดดี้ เปิดเผยอีกว่า โดยส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจและยอมรับว่าค่อนข้างอึดอัด จากพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่จับจ้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคล ต่างๆ เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นไปใช้เป็นเครื่องมือ ทำให้ศิลปินหรือนักแสดงต้องระมัดระวังอย่างมากในการแสดงความเห็นผ่านโซเชีย ลเน็ตเวิร์ก เพื่อป้องกันการนำความเห็นของตนไปใช้เป็นกระบอกเสียงแก่คนบางกลุ่ม  ในฐานะสื่อ เรารู้ว่าต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ภาวะปัจจุบันบีบคั้นให้คนหมดสิทธิ์ออกเสียง ในวันที่คนจำนวนมากลุกขึ้นมาสาดโคลนใส่กัน แต่ในฐานะสื่อ กลับพูดหรือแสดงออกไม่ได้ จึงต้องย้อนมองว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างแท้จริงคืออะไร ทั้งยังทำให้พบว่าวัฒนธรรมไทยคือวัฒนธรรมหมู่อยู่กันเป็นพวก ไม่นับถือความเป็นตัวตน ทุกวันนี้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายไม่มีตัวตนที่แท้จริง โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่เปรียบเสมือนการกระจายข่าวแบบปากต่อปากเท่านั้น   พิธีกรคนดัง ยังฝากคำแนะนำถึงผู้ใช้สังคมออนไลน์ด้วยว่า ในฐานะเจ้าของหน้าเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์อื่นๆ ควรกลั่นกรองสิ่งที่พูดหรือคิดในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อส่วนรวมหรือส่งผลให้สังคมเสื่อมลง ตนไม่ได้ห้าม แต่อยากให้กลั่นกรองความจริง ก่อนตกเป็นเครื่องมือของคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ด้าน นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร ผู้ ประสานงานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กถือเป็นช่องทางที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกทางความเห็น การแสดงออกทางการเมืองผ่านสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากการเขียนบทความและม็อบมือถือของนักศึกษาในอดีต จนกระทั่งยุคอินเทอร์เน็ตที่สามารถรวมตัวกันได้ง่าย เช่นเดียวกับการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ภายในเครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งประเทศ ไทย ที่รวมกลุ่มต่างๆ และปฏิสัมพันธ์กันผ่านสังคมออนไลน์ รวมถึงช่องทางสื่อสารต่างๆ และอีเมล์ konroonmai@gmail.com  "เชื่อว่ากระแสที่เกิดขึ้น เป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างแท้จริงตรงไปตรงมา เมื่อมาพบผู้ที่คิดเห็นในแนวทางเดียวกันจึงทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น นอกจากนี้ ความคิดที่แตกต่างทางการเมืองจากสังคมรอบตัวก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้คนรุ่น ใหม่จำนวนไม่น้อยเลือกแสดงอุดมการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ เนื่องจากการแสดงจุดยืนของตนเองกลายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะยุคที่เด็กถูกเลี้ยงเหมือนไข่ในหิน ต้องมีวิถีชีวิตตามกรอบที่พ่อแม่กำหนดและปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก”  ผู้ประสานงานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งประเทศไทย ยังคาดการณ์ถึงความนิยมที่วัยรุ่นมีต่อประเด็นทางการเมืองว่า ขณะนี้ คนรุ่นใหม่ถูกตัดออกจากประเด็นทางการเมือง ไม่มีบทบาทเป็นตัวละครทางการเมืองค่อนข้างนาน รวมถึงการเปลี่ยนบทบาทของสื่อจากสื่อสาธารณะเป็นสื่อส่วนตัว ทำให้โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นพื้นที่อิสระทางการแสดงความคิด เช่นเดียวกับตนเองที่นิยมแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองผ่าน พื้นที่ส่วนตัวอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยจากความสนใจทางการเมืองหรือติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน  เชื่อว่าบนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์มีคนรุ่นใหม่ร่วมแสดงความเห็นทางการเมือง มาก 60-70% ทั้งเป้นการแสดงอุดมการณ์หรือเป็นผลกระทบจากความเดือดร้อนที่ได้รับในการ ดำเนินชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า ถึงเวลาที่เราควรมีส่วนร่วมต่อประเทศชาติแล้วหรือยัง แต่ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้กลุ่มคนจำนวนมากร่วมกันแสดงอุดมการณ์อย่างแพร่ หลาย อาจมาจากการล่วงเกินสถาบันพระมหากษัติย์และสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ที่ใช้สังคมออนไลน์ในการแสดงความเห็น ตนอยากฝากให้ทำความเข้าใจว่าเว็บไซต์ต่างๆ เป็นเพียงช่องทางในการแสดงความเห็นอย่างอิสระ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตและความระมัดระวัง ไม่ควรสร้างความเกลียดชังแก่ผู้อื่น ควรทำและแสดงออกจากอุดมการณ์อย่างแท้จริงนายแสงธรรม กล่าว  ส่วน พ.ญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าการแสดงความเห็นทางโซเชียลเน็ตเวิร์กในขณะนี้เป็นเพียง การแสดงความคิดเห็น อาจมีบางส่วนที่เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็เป็นช่องทางสื่อสารที่ผู้แสดงทัศนคติทราบว่า ความแตกต่างทางความคิดจะไม่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์โดยตรงเท่ากับการแสดงออกต่อ หน้า ทำให้จำนวนผู้ใช้ช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับประเด็นการเมืองเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน จึงได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว ยอมรับว่าขณะนี้ ตนก็แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองโดยตลอด เนื่องจากพื้นฐานทางความรู้สึกที่ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งทางสังคม เมื่อมีผู้คิดแตกต่างจึงทำให้เกิดความรู้สึกต้องการแบ่งปันทางความคิด  เราสามารถแสดงความเห็นแตกต่างจากผู้อื่นได้ แต่สิ่งสำคัญคือความสามารถในการยอมรับความเห็นของผู้อื่น ขณะนี้ สังคมเกิดความขัดแย้งอย่างหนักถึงขนาดกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือ สถานที่ทำงาน เนื่องจากการเมืองถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับด้านต่างๆ ในสังคม จึงทำให้เกิดความต้องการมีส่วนร่วมและต้องการบทบาททางสังคมมากขึ้นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าว   พ.ญ.โชษิตา ให้ข้อมูลอีกว่า ปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดแตกต่างทางการเมือง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแต่ละกรณี รวมถึงการรู้จักแบ่งแยกการเมืองและเรื่องครอบครัวออกจากกัน บางครอบครัวที่เกิดการโต้เถียงหรือทะเลาะรุนแรงจากประเด็นการเมือง ถือเป็นกรณีที่ควรแก้ไขโดยเร่งด่วน ครอบครัวที่พ่อแม่เถียงกันเรื่องการเมือง ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าลูกจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถเข้าใจรายละเอียดได้ลึกซึ้ง อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ของผู้ใหญ่ในบ้าน ทางออกที่ดีที่สุดคือ การแยกแยะให้ออก พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจว่าทุกคนสามารถแสดงความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่นำประเด็นขัดแย้งทางการเมืองมาสร้างความขัดแย้งในบ้าน”  พ.ญ.โชษิตา แนะนำด้วยว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีครอบครัวใดขอรับการรักษาจากความขัดแย้งประเด็นดังกล่าว แต่ยอมรับว่าอาจเริ่มมีบ้างแล้ว คำแนะนำคือ หากในครอบครัวเริ่มทะเลาะเบาะแว้งด้วยความเห็นต่างทางการเมือง ก็สมควรขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรืออาจโทรขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือพยาบาลจิตนิเวช กรมสุขภาพจิต ผ่านหมายเลข 1323 ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษากับจิตแพทย์ แม้ปรากฏการณ์แสดงออกทางการเมืองผ่านสังคมออนไลน์ จะยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่ามาจากเหตุใด แต่สิ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดคือ อิสระทางการแสดงความคิดเห็น ผ่านช่องทางที่สะดวกและรวดเร็วอย่างอินเทอร์เน็ต ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การแสดงจุดยืนหรือการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ต่างทำให้สังคมและผู้คนเดือดร้อนถึงขั้นสร้างความแตกแยกและรุนแรงขึ้นได้ จากจุดเริ่มต้นในการพิมพ์อักษรเพียงไม่กี่ตัว ด้วยความไม่ตั้งใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น